ชาวนาอาลัย

ผมมีความสุขกับการถ่ายภาพและบันทึกวิดีโอในแต่ละวันระหว่างเดินทางกลับบ้านหลังเลิกงานด้วยกล้องคู่ใจที่ไม่ห่างกายเพราะย่างเข้าฤดูฝนมักจะได้ภาพที่เขียวชอุ่มสดชื่นสบายตา อย่างวันนี้ชาวนากำลังถอนต้นกล้าเพื่อนำไปปักดำ พวกเขารู้สึกยินดีและเต็มใจให้ผมได้บันทึกภาพและวิดีโออย่างเป็นกันเอง..“ถ่ายภาพพวกเราไปทำอะไรหรือคะ” ผมตอบกลับ ”อ๋อ..นำไปลงเว็บไซต์ครับ”พวกเขาทำหน้า งง ! ”เออ.... คือว่าเอาขึ้นอินเทอร์เน็ต ครับ”ทุกคนเงียบ กริบ..เริ่มใส่ใจกับบุคลิกท่าทางของตนเองให้ดูดีทันที ...keyword ”อินเทอร์เน็ต” แรงจริง ๆ นี่คือความสุขในวันเปิดภาคเรียนวิชาชีพของพี่น้องชาวนาในชนบทของพวกเรา
                ในพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ ประจำปี 2555 ณ มณฑลพิธีท้องสนามหลวง  จากการเสี่ยงทายในปีนี้ พระยา แรกนาเสี่ยงทายหยิบผ้าได้ผ้า 6 คืบ พยากรณ์ว่าน้ำจะน้อย นาในที่ลุ่มจะได้ผลบริบูรณ์ดี แต่นาในที่ดอน จะเสียหายบ้างได้ผลไม่เต็มที่ พระโคกินหญ้า-น้ำท่าบริบูรณ์พอสมควร ธัญญาหาร ผลาหาร ภักษาหาร มังสาหารจะอุดมสมบูรณ์ดี ซึ่งก็ตรงกับการเสี่ยงทายพอสมควร สังเกตว่าฝนฟ้าเริ่มตกตามฤดูกาลตั้งแต่ต้นฤดู ชาวนายิ้มเริงร่าสู้สายฝนกันถ้วนหน้า  จากการสอบถามพี่น้องชาวนาที่หมู่บ้านผู้เขียนเองต่างเบาใจในเรื่องน้ำท่าที่จะทำนาในปีนี้  ช่วงนี้ต่างเตรียมปักกล้าหว่านไถกันยกใหญ่ ภายในหมู่บ้านเงียบเหงาคงเหลือไว้เพียงลูกหลานผู้เฒ่าผู้แก่อยู่เฝ้าเรือนชาน ส่วนพ่อ-แม่ก็จะพากันลงนาเพื่อปักกล้าไถหว่านตามขั้นตอน  กว่าจะได้ผลผลิตต้องทนเหนื่อยเอาหลังสู้ฟ้าหน้าสู้ดิน ปีไหนฝนฟ้าน้ำท่าบริบูรณ์ สิ่งที่ตามมาคือราคาข้าวมักจะตกไม่ได้ราคาอย่างที่หวังเท่าที่ควร แต่ต้องกล้ำกลืนฝืนทน ข้างบ้านเขามีรถไถนาเดินตามแล้ว ควายที่บ้านก็เริ่มผอมโซไม่มีเรี่ยวแรงพอจะไถนาครั้งละหลาย ๆ ไร่ ไม่มีเจ้าควายเหล็กเห็นทีจะแย่ไม่ทันกิน กัดฟันเป็นหนี้สินแม้ผลผลิตและรายได้จะลุ่ม ๆ ดอน ๆ ก็ต้องยอม
               แม้ว่าจะปฏิเสธในเหตุผลไม่ได้ว่ายุคสมัยนี้เป็นยุคเทคโนโลยีครองเมือง จะให้ย้อนกลับไปใช้ชีวิตแบบเดิมคงไม่ได้ นั่นเป็นเรื่องที่ถูกต้องพอสมควร  แต่ก็ไม่ได้หวังอะไรมากไปกว่าควรค่าอนุรักษ์วิถีชีวิตแบบพอเพียงบ้างเช่นการใช้ควายไถนา ใช้มูลสัตว์แทนปุ๋ยเคมีในนาข้าว เพื่อให้ลูกหลานได้ตระหนักถึงวิถีชีวิตแบบดั้งเดิมของปู่ย่าตายายตนเอง  อย่างน้อยก็เป็นสิ่งปลอบโยนจิตใจและความรู้สึกของชาวนาที่อาลัย”คราดและคันไถ”ของตนเองที่ต้องหักสะบั้นเพราะยุคสมัยที่เปลี่ยนผ่าน   
               สังเกตดูว่าในชนบทควายมักจะเหลือน้อยหรือเกือบจะหมดไปจากท้องไร่ท้องนาเสียแล้ว อนาคตเด็กรุ่นใหม่หรือแม้แต่ลูกของชาวนาเองจะเห็นควายตัวเป็น ๆ คงหาดูยากขึ้นทุกที ส่วนมากจะเห็นในรูปโปสเตอร์หลังห้องเรียนเป็นส่วนใหญ่  ส่วนใต้ถุนบ้านก็คงจะเห็น”ควายเหล็ก” ที่ล่ามโซ่ผูกติดเสาบ้านไว้แทน จะด้วยเหตุผลกลใดก็ตามแต่ ถ้าเรานึกคิดกันดี ๆ การที่มีรถไถนาเดินตามมันก็เป็นสิ่งที่ดีมีประโยชน์ไม่ว่าจะเป็นด้านความรวดเร็ว ความสะดวกสบายแต่อย่าลืมว่าสิ่งที่จะตามมาคือรายจ่ายที่เพิ่มขึ้นเช่นค่าน้ำมัน ค่าซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอของเครื่อง แถมด้วยมลพิษจากไอเสียเครื่องยนต์ขณะทำการไถนาต้องสูดหายใจเข้าขณะบังคับเครื่อง ย่อมมีผลต่อระบบหายใจของตนเองเจ็บป่วยมาก็จะยุ่งกันไปทั้งครอบครัว
             ดังนั้นเราควรคืนธรรมชาติด้วยการคำนึงถึงสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ของเราให้มาก  แม้ว่าเราจะอยู่ท่ามกลางเทคโนโลยีที่พันธนาการรอบตัวไว้ก็ตาม  ผู้เขียนอยากเห็นภาพวิถีชีวิตที่เรียบง่ายชองชาวนาในชนบทเช่นว่าไก่โก่งขอขันรับอรุณรุ่ง ชาวนาขี่เจ้าทุยลุยท้องทุ่ง ในน้ำมีปลาในนามีข้าวเหลืองอร่ามทั่วท้องทุ่ง ยิ้มให้กับชีวิตที่พอเพียง ยิ้มให้กับวิถีธรรมชาติและสะกดคำว่า”หนี้สิน” ไม่เป็น... สุขที่ยั่งยืนเช่นนี้ไม่ดีกว่าหรือ ?....
                        
                                    Poon  / ต้นฤดูฝน  มิถุนายน 2555
       

Share:

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

Popular Posts

ขับเคลื่อนโดย Blogger.

Followers

Social Icons

twitterfacebookgoogle pluslinkedinrss feedemail

โพสต์ ยอดนิยม

ไม้เรียวสร้างคน

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

กิจกรรมนักเรียนชั้นป.6 (นาเพียงเก่า)

About Us